5. การลงมือพัฒนาโครงงานคอมพิวเตอร์
เนื้อหา
▹1. การวางแผนดำเนินการทำโครงงานคอมพิวเตอร์ให้สำเร็จ
▹2. แนวทางการจัดระบบการทำโครงงานคอมพิวเตอร์
▹3. การลงมือพัฒนาโครงงาน
1. การวางแผนดำเนินการทำโครงงานคอมพิวเตอร์ให้สำเร็จ
เมื่อเริ่มต้นทำโครงงาน จะต้องจินตนาการจุดหมายปลายทางความสำเร็จของโครงงานให้ได้ การทำโครงงานเปรียบเหมือน การเดินทางไปบนถนนเพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางที่ต้องการ จะไปให้ถึงผู้เดินทางต้องรู้ว่า
1.1 คุณลักษณะของหัวหน้าโครงงานและผู้ร่วมโครงงานที่ดี
หัวหน้าโครงงานที่ดี
1. มีความรับผิดชอบ
2. รู้เป้าหมายแห่งความสำเร็จของการทำโครงงาน
3. สามารถนำและโน้มน้าวผู้ร่วมทีมให้ช่วยกันคิด ช่วยกันทำงานและแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆเพื่อให้ไปสู่ความสำเร็จ
4. รู้จักตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญ
5. รู้จักวางแผนการทำงาน
6. รู้จักติดตามความก้าวหน้าในการทำงาน
7. รู้จักควบคุมการเปลี่ยนแปลงที่อาจเบี่ยงเบนไปจากแผนการทำงาน
8. รู้จักติดตามและควบคุมให้การทำโครงงานอยู่ในขอบเขตของโครงงาน
9. รู้จักตรวจสอบความถูกต้องของสิ่งที่ทำ
10. รู้จักจัดประชุมเป็นครั้งคราว เพื่อให้งานก้าวหน้าและสำเร็จ
11. รู้จักควบคุมการทำโครงงานให้อยู่ในตารางเวลาและค่าใช้จ่าย
12. รู้จักควบคุมการทำงานให้ได้คุณภาพตามที่กำหนด
13. รู้และเข้าใจกฎเกณฑ์เรื่องความปลอดภัยต่างๆ
14. รู้จักและตระหนักในกฎเกณฑ์สากลที่เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
ผู้ร่วมโครงงานที่ดี
1. มีความรับผิดชอบ รู้หน้าที่ของตน
2. รู้เป้าหมายแห่งความสำเร็จในการทำโครงงาน
3. เสนอความคิดในโอกาสต่าง ๆ
4. ทำงานตามขั้นตอน เชื่อถือได้ อย่างถูกต้อง
5. บันทึกข้อมูลอย่างแม่นยำและตามจริง
6. รายงานปัญหา อุปสรรค ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
7. ยินดีร่วมมือ ช่วยทำงานในส่วนต่าง ๆ ตามที่ตกลง และที่ได้รับมอบหมาย
8. ยินดีช่วยงานของเพื่อนร่วมทีม เมื่อถูกขอร้อง
9. ทำงานตามกำหนดเวลา
10. รู้และเข้าใจกฎเกณฑ์เรื่องความปลอดภัยต่างๆ
11. รู้จักและตระหนักในกฎเกณฑ์สากลที่เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
นักทำโครงงานที่ประสบความสำเร็จ
2. แนวทางการจัดระบบการทำโครงงานคอมพิวเตอร์
ขั้นตอนการลงมือพัฒนาโครงงาน เมื่อทีมพัฒนาโครงงาน เขียนข้อเสนอโครงงาน และนำเสนอข้อเสนอโครงงานได้รับการอนุมัติจากครูที่ปรึกษาแล้วถึงขั้นตอนของการลงมือพัฒนาโครงงาน ซึ่งมีรายละเอียดต่าง ๆ ต่อไปนี้
1. จัดประชุมระดมความคิด วางแผน ออกแบบชิ้นงานร่วมกัน
2. แบ่งงาน มอบหมายงานให้ผู้รับผิดชอบ
3. บันทึกในแบบบันทึกต่างๆ ที่ครูกำหนดอย่างสม่ำเสมอ เช่น Log book , รายงานความก้าวหน้าของโครงงาน เป็นต้น
4. สร้างผลงาน อย่างถูกต้อง สวยงาม มีคุณภาพ
5. ประเมินผลงาน และ ตรวจผลงานเป็นระยะ ๆ
6. ทำรายงานฉบับสมบูรณ์ บทคัดย่อ และคู่มือการใช้งาน
7. เตรียมนำเสนอผลงานโครงงาน เช่น ทำโปสเตอร์ , จัดนิทรรศการ , สร้างโมเดล , ทำมัลติมีเดีย เป็นต้น
2.1 สิ่งที่ควรพิจารณาในการทำโครงงานคอมพิวเตอร์
1. บรรลุตามวัตถุประสงค์ พิจารณาว่าผลงานที่ได้สอดคล้องกับรายละเอียดที่ระบุไว้ในวัตถุประสงค์หรือไม่ มากน้อยอย่างไร
2. ความสมบูรณ์ของผลงาน หมายถึงการทำงานที่ถูกต้อง ความสวยงามและความเรียบร้อย
3. ความคิดสร้างสรรค์/ความแปลกใหม่ เพราะโครงงานบางชิ้นไม่ได้เป็นงานใหม่ แต่เป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพเท่านั้น ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นโครงงานได้เช่นกัน
4. เทคนิคที่ใช้ในการแก้ปัญหา มีความยากง่ายระดับใด มีการนำมาประยุกต์ใช้ได้ถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร
5. การนำไปใช้ประโยชน์ ผลงานนั้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในลักษณะใดได้บ้างมีผลกระทบต่อใคร และอย่างไร
6. การทำรายงาน คู่มือการติดตั้ง และคู่มือการใช้งาน มีความครบถ้วน ถูกต้องและการใช้งานที่ง่าย
2.2 เพื่อการติดตามและประเมินผลงานของผู้เรียนได้อย่างใกล้ชิด ครูที่ปรึกษาให้ผู้เรียนจัดทำบันทึกต่างๆ ต่อไปนี้
1. บันทึกการค้นคว้าข้อมูลพื้นฐาน
2. ปฏิทินการทำโครงงาน
3. ปฏิทินติดตามความก้าวหน้าการทำงาน
4. บันทึกบทเรียนจากการทำโครงงาน
3. การลงมือพัฒนาโครงงาน
เมื่อข้อเสนอโครงงานได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์ที่ปรึกษาแล้ว ก็เสมือนว่าการจัดทำโครงงานได้ผ่านพ้นไปแล้วมากกว่า 50% ขั้นต่อไปจะเป็นการลงมือพัฒนาตามขั้นตอนที่วางแผนไว้ ดังนี้
3.1 การเตรียมการ
ต้องเตรียมเครื่องคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และวัสดุอื่นๆ ที่จะใช้ในการทดลอง พร้อมทั้งจัดเตรียมสถานที่สำหรับใช้ในการพัฒนาให้พร้อมด้วย และควรเตรียมสมุดบันทึก หรือบันทึกเป็นแฟ้มข้อความไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ สำหรับบันทึกการทำกิจกรรมต่างๆ ระหว่างทำโครงงาน ได้แก่ ได้ปฏิบัติอย่างไร ได้ผลอย่างไร มีปัญหาและแก้ไขได้หรือไม่อย่างไร รวมทั้งข้อสังเกตต่างๆ ที่พบ
3.2 การลงมือพัฒนา
3.2.1 ปฏิบัติตามแผนงานที่วางไว้ในเค้าโครง แต่อาจเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมได้ถ้าพบว่าจะช่วยทำให้ผลงานดีขึ้น
3.2.2 จัดระบบการทำงานโดยทำส่วนที่เป็นหลักสำคัญให้แล้วเสร็จก่อน จึงค่อยทำส่วนที่เป็นส่วนประกอบหรือส่วนเสริมเพื่อให้โครงงานมีความสมบูรณ์มากขึ้น และถ้ามีการแบ่งงานกันทำ ให้ทำความตกลงในการต่อเชื่อมชิ้นงานที่ชัดเจนด้วย
3.2.3 พัฒนาระบบงานด้วยความละเอียดรอบคอบ และบันทึกข้อมูลไว้อย่างเป็นระบบและครบถ้วน
3.2.4 คำนึงถึงความประหยัด ความปลอดภัย และระยะเวลาในการทำงาน
3.3 การตรวจสอบผลงานและแก้ไข
การตรวจสอบความถูกต้องของผลงานเป็นความจำเป็น เพื่อให้แน่ใจว่าผลงานที่พัฒนาขึ้นทำงานได้ถูกต้องตรงกับความต้องการที่ระบุไว้ในเป้าหมาย และทำด้วยประสิทธิภาพสูงด้วย
3.4 การอภิปรายผลและข้อเสนอแนะ
เมื่อพัฒนาผลงานเรียบร้อยแล้ว ให้จัดทำสรุปด้วยข้อความที่สั้นกะทัดรัดอย่างครอบคลุม เพื่อช่วยให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงสิ่งที่ค้นพบจากการทำโครงงาน และทำการอภิปรายผลด้วย เพื่อพิจารณาข้อมูลและผลที่ได้พร้อมกับนำไปหาความสัมพันธ์กับหลักการ ทฤษฎี หรือผลงานที่ผู้อื่นได้ศึกษาไว้แล้ว ทั้งนี้ยังรวมถึงการนำหลักการ ทฤษฎี หรือผลงานของผู้อื่นมาใช้ประกอบการอภิปรายผลที่ได้ด้วย
3.5 แนวทางการพัฒนาโครงงานในอนาคตและข้อเสนอแนะ
เมื่อทำโครงงานเสร็จสิ้นลงแล้ว ผู้เรียนอาจพบข้อสังเกต ประเด็นที่สำคัญหรือปัญหา ซึ่งสามารถเขียนเป็นข้อเสนอแนะและสิ่งที่ควรจะศึกษาหรือใช้ประโยชน์ต่อไปได้
แผนการจัดการเรียนรู้
เอกสารประกอบการเรียนรู้
เอกสารอ้างอิง
• นางสาววัชราภรณ์ สีหามาตร์. 2559 “เรียนรู้โครงงานคอมพิวเตอร์” Available: สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน 2562. จาก https://sites.google.com/site/reiynrukhorngngankhxmphiwtexr/phu-cad-tha
• พงศกร ชูสุวรรณ. 2560 “โครงงานคอมพิวเตอร์” Available: สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน 2562. จาก https://sites.google.com/a/srp.ac.th/srp32478/prawati
• ฺBinary No. 2559 “โครงงานคอมพิวเตอร์” Available: สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน 2562. จาก https://www.binaryprogramming.net/